วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

โรงเรียนในดวงใจของฉัน


โรงเรียนทุ่งสง

ได้ก่อตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2486 โดยอาศัยโรงธรรมศาลาในบริเวณวัดชัยชุมพลเป็นสถานที่เรียน โดยมีนายสิริ รัตนรัต ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่คนแรก ต่อมาได้ย้ายมาขอใช้สถานที่ราชพัสดุ ติดกับโรงเรียนวัดชัยชุมพล เป็นสถานที่ก่อตั้งโรงเรียน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2490 โรงเรียนจึงได้จัดงบประมาณจากทางราชการให้สร้างอาคารเรียนถาวรที่ราชพัสดุ ในเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน โดยในระยะแรกเปิดรับสมัครนักเรียนทั้งชายและหญิงเข้าเรียน ต่อมาในปี พ.ศ. 2501จึงได้แยกนักเรียนหญิงออกไปตั้งเป็นโรงเรียนสตรีทุ่งสง จากความคับแคบของเนื้อที่โรงเรียน ทำให้ไม่สามารถขยายอาคารสถานที่ให้พอเพียงกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นแต่ละปี ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนในสมัยนั้นได้ดำริที่จะย้ายสถานที่ตั้งโรงเรียนในปี พ.ศ. 2512 นายพินิจ นุ่นพันธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนทุ่งสงในสมัยนั้น จึงได้ดำเนินเรื่องขอให้ที่ดินราชพัสดุบริเวณกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 8 เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนแห่งใหม่ ทางราชการได้อนุมัติ และดำเนินการจัดสร้างอาคารประกอบขึ้นในปี พ.ศ. 2513 แล้วเสร็จ จึงเปิดให้นักเรียนเข้าเรียนในสถานที่แห่งใหม่นั้น เมื่อปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา ถือว่าได้เป็นยุคใหม่ของโรงเรียน โดยมีลำดับขั้นของการพัฒนา ดังนี้
  • พ.ศ. 2517 กระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกให้โรงเรียนทุ่งสง เข้าอยู่ในโครงการโรงเรียนมัธยมแบบผสมในส่วนภูมิภาค (ค.ม.ภ.1) รุ่นที่ 2 โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ พ.ศ. 2518 และสิ้นสุดโครงการเมื่อปี พ.ศ. 2521
  • พ.ศ. 2520 โรงเรียนได้รับอนุญาตให้เปิดสอนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งในระยะแรกเปิดสอนเพียง 2 ห้องเรียนต่อระดับชั้น และได้เปิดเพิ่มเป็น 8 ห้องเรียนต่อระดับชั้น ในระยะเวลาต่อมา
  • พ.ศ. 2524 โรงเรียนได้รับคัดเลือกจากระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นโรงเรียนดีเด่นได้รับรางวัลพระราชทานประเภทโรงเรียนดีเด่นขนาดใหญ่
  • พ.ศ. 2527 กระทรวงศึกษาธิการได้มอบรางวัลให้กับโรงเรียนในฐานะเป็นโรงเรียนผู้ดำเนินการใช้หลักสูตรดีเด่น ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
  • พ.ศ. 2530 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นสถานศึกษาที่จัดกิจกรรมจริยศึกษาดีเด่น ส่วนภูมิภาค
  • พ.ศ. 2531 สมาคมบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ยกย่องผู้บริหารโรงเรียนทุ่งสง (นายศุภมน เสาหฤทวงศ์) เป็นผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ดีเด่นในเขตการศึกษา 3
  • พ.ศ. 2534 เป็นโรงเรียนหน่วยเบิกกรมสามัญศึกษา ประจำคลัง ณ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • พ.ศ. 2536 รับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นแบบสหศึกษา โดยเริ่มจากชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1 (ในปีการศึกษา 2538 รับนักเรียนแบบสหศึกษา ทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายครบทุกระดับชั้น)
  • พ.ศ. 2537 โรงเรียนทุ่งสงเป็นโรงเรียนโครงการร่วมโรงเรียนกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช
  • พ.ศ. 2539 โรงเรียนได้รับคัดเลือกจากกรมสามัญศึกษาเข้าร่วมโครงการห้องสมุด กาญจนาภิเษก และโครงการปฏิรูปการศึกษา
  • พ.ศ. 2542 โรงเรียนทุ่งสงได้จัดโครงการร่วมกับสถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราชจัดเปิดสอนโครงการ กศ.บป.
  • พ.ศ. 2543 โรงเรียนทุ่งสงได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนสีเขียว ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2544 โรงเรียนทุ่งสงได้รับประกาศเกียรติคุณจากกรมสามัญศึกษา ให้เป็นโรงเรียนจัดระบบช่วยเหลือนักเรียนดีเด่น
  • พ.ศ. 2545 โรงเรียนทุ่งสงได้รับรางวัลปฏิบัติรูปการเรียนดีเด่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช
  • พ.ศ. 2547 โรงเรียนทุ่งสงได้รับคัดเลือกจากสำนักงานเลขาธิการสถานการศึกษาเข้าร่วมโครงการขยายผลการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เขตพื้นที่ภาคใต้
  • พ.ศ. 2548 โรงเรียนทุ่งสงได้รับงบประมาณจากผู้ว่า CEO ปรับปรุงห้องสมุด IT ได้รับการสนับสนุนตรามโครงการ TOT IT school จากบริษัท TOT และได้จัดสร้าง IT โดยได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ปกครองและชุมชน
  • พ.ศ. 2549 โรงเรียนทุ่งสงได้จัดโครงการห้องเรียนพิเศษ ในระดับชั้น ม.1, ม.4
  • พ.ศ. 2549 โรงเรียนทุ่งสงได้เพิ่มการเรียนการสอนภาษาจีน
  • พ.ศ. 2551 โรงเรียนทุ่งสงได้เริ่มจัดการเรียนการสอนในด้านห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์
  • พ.ศ. 2552 โรงเรียนทุ่งสงได้ลงนามความร่วมมือโรงเรียนมาตรฐานสากล "World Class Standard School"
  • พ.ศ. 2553 โรงเรียนทุ่งสงได้จัดตั้งห้องเรียนอาชีพ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ใน 4 สาขาวิชาดังต่อไปนี้ - คอมพิวเตอร์ - อุตสาหกรรม - ดนตรี-นาฏศิลป์ - ศิลปะ


ทำเนียบผู้บริหาร

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนทุ่งสงมีผู้บริหาร 12 คน ดังนี้[4]
  1. นายสิริ รัตนะรัตน พ.ศ. 2486 - พ.ศ. 2487 รักษาการแทนครูใหญ่
  2. นายคิด เลิศศิริก้องสมุท พ.ศ. 2487 - พ.ศ. 2487 ครูใหญ่
  3. นายเอก วัฒนกุล พ.ศ. 2491 - พ.ศ. 2495 ครูใหญ่
  4. นายแพ แสงพลสิทธิ์ พ.ศ. 2495 - พ.ศ. 2498 ครูใหญ่
  5. นายสวัสดี ณ พัทลุง พ.ศ. 2498 - พ.ศ. 2507 ครูใหญ่
  6. นายพินิจ นุ่นพันธ์ พ.ศ. 2507 - พ.ศ. 2519 ครูใหญ่
  7. นายศุภมน เสาหฤทวงศ์ พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2531 ผู้อำนวยการโรงเรียน
  8. นางไสว คงสวัสดิ์ พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2535 ผู้อำนวยการโรงเรียน
  9. นายสกนธ์ ไชยกาญจน์ พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2543 ผู้อำนวยการโรงเรียน
  10. นายสุรพล หอมหวล พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2547 ผู้อำนวยการโรงเรียน
  11. นายจำเริญ รัตนบุรี พ.ศ. 2547 - พ.ศ. 2554 ผู้อำนวยการโรงเรียน
  12. นายสนั่น พลรัฐธนาสิทธิ์ พ.ศ. 2554 - ปัจจุบัน ผู้อำนวยการโรงเรียน

ตราสัญลักษณ์
พระคเณศ หรือ พระพิฆเนศ[5] เป็นเทพของอินเดีย เป็นเทพประจำความขัดข้อง ตัวเป็นคน หัวเป็นช้าง เป็นผู้ประสาทวิชาเจ็ดประการคือ ช่างปั้น จิตรกรรม ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ สถาปัตยกรรม วาทศิลป์ และอักษรศาสตร์ ดังนั้นในวรรณคดี เมื่อกวีจะไหว้ครูก็มักจะไหว้พระพิฆเนศด้วยเช่นใน สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นต้น เพื่อจะได้ประสาทความสำเร็จ ให้กับผู้แต่งในการแต่งหนังสือเล่มนั้น นอกจากนั้นดวงตราประจำวรรณคดีสโมสร ก็ใช้รูปพระพิฆเนศ
พระคเณศ เป็นโอรสพระศิวและพระบารพดี ตอนคลอดมีเทพไปแสดงความยินดีมาก รวมทั้ง พระศนิ (พระเสาร์) ซึ่งถูกภรรยาสาปไว้ว่า ถ้าพระศนิมองดูใคร ผู้นั้นจะต้องถึงแก่ความพินาศ จึงไม่กล้ามองกุมาร พระบารพดีไม่ถืออนุญาตให้พระศนิมอง เมื่อพระศนิมองพระกุมารคือ พระคเณศ พระคเณศก็หัวขาด พระวิษณุจึงเหาะไปหาหัวมาต่อให้ พบช้างนอนหลับอยู่ จึงตัดหัวมาต่อให้พระกุมาร พระคเณศจึงมีหัวเป็นช้างตั้งแต่นั้นมา
พระคเณศมีชายาสององค์คือ พุทธิ กับ สิทธิ และมีโอรสสององค์ ชื่อเกษมและลาภ
พระคเณศ บางทีเรียกว่าพระพิฆเนศ พระพิฆเนศวร คือผู้เป็นใหญ่ในความติดขัด หรือเรียกพระสิทธิธาดา หมายถึงผู้อำนวยความสำเร็จ หรือพระเหรัมพ ์คือผู้คุ้มครอง ป้องกัน นอกจากนี้ยังมีชื่ออื่น ๆอีก เช่น
  • พระเอกทันต์ หมายถึง ผู้มีงาเดียว
  • พระมโหทร หมายถึง ผู้มีท้องใหญ่
  • พระลัมพกรรณ หมายถึง ผู้มีหูยาน
  • พระกริมุข หมายถึง หัวเป็นช้าง
นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกเป็นอื่น ๆ อีกมากมาย
โรงเรียนทุ่งสง มีเจตจำนงค์ที่จะผลิตนักเรียน ให้มีความรู้ในศิลปะ วิทยาการอันกล้าแกร่ง พร้อมที่จะออกไปศึกษาต่อ หรือ ประกอบอาชีพ ได้โดยสะดวก จึงได้เลือกเอา รูปพระพิฆเนศ เป็นตราประจำโรงเรียน จนกระทั่งปัจจุบันนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก 
-- http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%87#.E0.B8.9B.E0.B8.A3.E0.B8.B0.E0.B8.A7.E0.B8.B1.E0.B8.95.E0.B8.B4

วันปีใหม่


ความหมายของวันขึ้นปีใหม่

          ตามความหมายในพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า "ปี" หมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน หรือ เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ ดังนั้น "ปีใหม่" จึงหมายถึง การขึ้นรอบใหม่หลังจาก 12 เดือน หรือ 1 ปี

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่

          วันขึ้นปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตามความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนีย เริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทินโดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก ๆ 4 ปี

          ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำการปฏิบัติของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้น จนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ (ประมาณ 46 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อโยซิเยนิส มาปรับปรุงให้หนึ่งปีมี 365 วัน โดยทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทิน เมื่อเพิ่มให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ให้ทุกๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน

          และในวันที่ 21 มีนาคม ตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตามทิศตะวันตก วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมงเท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March)

          แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้นพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วัน จากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (ใช้เฉพาะในปี พ.ศ. 2125) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่าปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา

ความเป็นมาวันปีใหม่ในประเทศไทย
          สำหรับวันปีใหม่ในประเทศไทยนั้น แต่เดิมเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนา ที่ถือช่วงเหมันต์หรือหน้าหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ คือถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ ดังนั้นในสมัยโบราณเราจึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย

          แต่การนับวันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ตามวันทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ ย่อมคลาดเคลื่อนกันไปในแต่ละปี ดังนั้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปี พ.ศ.2432 (ร.ศ.108) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยนับแต่นั้นมา เพื่อวันปีใหม่จะได้ตรงกันทุกปีเมื่อนับทางสุริยคติ (แม้ว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีต่อๆ มาจะไม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน แล้วก็ตาม) ดังนั้นจึงถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนับแต่นั้นมา  อย่างไรก็ดีประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่

          ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการจึงเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน มักจะไม่มีงานรื่นเริงอะไรมากนักและเห็นสมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก จนแพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อ ๆ มา โดยในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้มีการจัดงานปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด มีชื่อทางราชการ "วันตรุษสงกรานต์"


                                 ปีใหม่ วันปีใหม่

เหตุผลเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม          ต่อมาก็ได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานคณะกรรมการ และที่ประชุมก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ในวันที่ 24 ธันวาคม ในสมัยคณะรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเหตุผลสำคัญก็คือ

           เป็นการไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ

           เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมศาสนาพุทธ

           ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก

           เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

          ตั้งแต่นั้นมา วันขึ้นปีใหม่ของไทยจึงตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เหมือนดังเช่นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

เพลงวันปีใหม่
          แน่นอนว่า เพลงที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ก็คือ "เพลงพรปีใหม่" ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2494 เมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยมีพระราชประสงค์ให้เพลงนี้ เป็นพรปีใหม่ที่พระราชทานแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทยเป็นครั้งแรกในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 โดยเพลงพรปีใหม่ มีเนื้อร้องดังนี้


          เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)
          
                ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
                คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

                สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
                ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
                ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
                โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย

                ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
                ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
                ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
                ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ

ประวัติการส่ง ส.ค.ส.ในวันปีใหม่          การส่ง ส.ค.ส หรือบัตรอวยพรนั้น ประเทศไทยรับวัฒนธรรมมาจากต่างประเทศ ซึ่งนิยมส่งบัตรอวยพรกันมาเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 18 หรือตรงกับปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา บัตรอวยพรนี้ปรากฎในรูปแบบ "บัตรเยี่ยม" (Visiting Card) เป็นบัตรกระดาษขนาดเท่าไพ่ นิยมเขียนข้อความ หรือพิมพ์รูปภาพต่าง ๆ ลงไปเพื่อเยี่ยมเยียนกันในวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาแพร่หลายไปในเทศกาลต่าง ๆ เช่น วาเลนไทน์ คริสต์มาส มีการส่งพิมพ์และส่งบัตรอวยพรกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

          สำหรับในประเทศไทยนั้น เชื่อกันว่าบัตรอวยพรปีใหม่ที่เก่าแก่ที่สุด คือ บัตรอวยพรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ 120 กว่าปีก่อน โดยในรัชสมัยของพระองค์ เป็นยุคที่มีการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงมีการรับเอาขนบธรรมเนียมของตะวันตกมาด้วย

          ทั้งนี้การส่งบัตรอวยพรของพระองค์นั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้ปรากฎสำเนาคำพระราชทานพรขึ้นปีใหม่ ในปี พ.ศ.2409 ของพระองค์ ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2409 แปลได้ใจความว่า "ทรงขอส่งบัตรตีพิมพ์คำอวยพรนี้ถึงบรรดากงสุล เจ้าหน้าที่กงสุลต่าง ๆ และชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยโดยทั่วถึงกัน"
          ต่อมาในช่วงต้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ความนิยมการส่งบัตรอวยพรแพร่หลายอย่างมาก มีหลักฐานบัตรอวยพรประเภทต่างๆ ถูกเก็บรวบรวมไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นจำนวนมาก โดยมักนิยมส่งกันในช่วงเดือนเมษายน ตามวันขึ้นปีใหม่เดิมที่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน และบนบัตรอวยพรเหล่านั้น ยังพบคำว่า "ส.ค.ศ" หรือ "ส.ค.ส" ปรากฎอยู่ จึงเชื่อกันว่า คำว่า "ส.ค.ส" เกิดขึ้นในรัชสมัยนี้ โดยย่อมาจากคำว่า "ส่งความศุข" หรือ "ส่งความสุข"
          หลังจากนั้น ส.ค.ส ก็เป็นสิ่งที่นิยมส่งให้กันในวันขึ้นปีใหม่ จนถึงปัจจุบันนี้ และ ส.ค.ส. ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบไปมีการนำวัสดุต่าง ๆ มาประดิษฐ์ ตกแต่ง มีรูปแบบ ลวดลายหลากหลายมากขึ้น
           
ส.ค.ส พระราชทาน          ทุก ๆ ปี พสกนิกรจะเฝ้ารอการพระราชทานพรปีใหม่ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผ่าน ส.ค.ส พระราชทานซึ่ง ส.ค.ส พระราชทานนี้ พระองค์จะทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ โดยปีแรกที่พระองค์พระราชทาน ส.ค.ส คือ ปี ส.ค.ส พระราชทานสำหรับปี พ.ศ.2530 โดยทรงพิมพ์ออกจากคอมพิวเตอร์ และแฟกซ์พระราชทานให้แก่หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า กส. 9 เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร

ส.ค.ส พระราชทาน
ส.ค.ส.พระราชทาน ปี พ.ศ.2530

          นับแต่นั้นมา พระองค์ได้พระราชทาน ส.ค.ส ทุกปี และหนังสือพิมพ์ได้นำ ส.ค.ส พระราชทานไปตีพิมพ์ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน ส.ค.ส พระราชทานนั้นได้ยกเว้นไปในปีใหม่ พ.ศ. 2548 ที่พระองค์ไม่ได้พระราชทาน ส.ค.ส เนื่องจากในช่วงปลายปี 2547 ได้เกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างรุนแรง พระองค์จึงทรงงานหนัก เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ได้มีรับสั่งพระราชทานแทน

         ในส่วนของข้อความที่ปรากฎบน ส.ค.ส. พระราชทานนั้น ล้วนสอดคล้องเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในปีนั้นๆ และแม้จะเป็นเพียงถ้อยคำสั้น ๆ แต่ก็แฝงไปด้วยข้อคิด และคติเตือนใจที่ส่งผ่านไปยังปวงชนชาวไทยทุกคน 

ส.ค.ส พระราชทาน
                                              ส.ค.ส.พระราชทาน ปี พ.ศ.2547

          สำหรับรูปแบบของ ส.ค.ส พระราชทานนั้น ในยุคแรกเป็น ส.ค.ส.ไม่มีลวดลาย สีขาวดำ มีข้อความปรากฎสั้น ๆ ต่อมาจนถึงปี พ.ศ.2532 เริ่มมีลวดลายประดับประดา ส.ค.ส.มากขึ้น จนถึงในปี พ.ศ.2549 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นภาพสี                
 

ส.ค.ส พระราชทานปีล่าสุด 2554 



           ส.ค.ส.พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีพุทธศักราช 2554 นี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์สากลสีครีมผ้าปักพระกระเป๋าเป็นผ้าลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเชิ้ตขาว ทรงผูกเนกไทลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ประทับบนพระเก้าอี้ ด้านข้างพระเก้าอี้ที่ประทับทั้งสองข้างมีโต๊ะสูง โต๊ะด้านซ้ายวางแจกันแก้วก้านสูงปักดอกไม้หลากสี โต๊ะด้านขวาวางแจกันแก้วขนาดเล็กปักดอกไม้หลากสีเช่นกัน ทรงฉายกับสุนัขทรงเลี้ยง 2 สุนัข คือ คุณทองแดงที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2541 หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านขวาและคุณทองแท้ที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2542 หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านซ้าย

           ด้านหลังพระเก้าอี้ที่ประทับเป็นผ้าม่านสีเทาอ่อน มีแจกันดอกไม้ขนาดใหญ่ปักดอกกุหลาบและดอกไฮเดรนเยียหลากสีตั้งอยู่ 2 แจกัน แจกัน ด้านซ้ายมีตราพระมหาพิชัยมงกุฎประดับอยู่ ส่วนแจกันด้านขวามีผอบทองประดับอยู่ ถัดไปทางด้านหลังทั้งสองด้านมีกระถางไม้ประดับตั้งอยู่

           มุมบนด้านซ้ายมีตัวอักษรสีเหลือง ข้อความว่า ส.ค.ส.สวัสดีปีใหม่ 2554 มุมบนด้านขวามีข้อความภาษาอังกฤษ Happy New Year 2011

           ด้านล่างของ ส.ค.ส. มีข้อความเป็นตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีน้ำเงินว่า ขอจงมีความสุข ความเจริญ มุมล่างขวา มีข้อความ ก.ส.9 ปรุง 121923 ธ.ค.53 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad publishing, D Bramaputra, Publisher กรอบของ ส.ค.ส.พระราชทานฉบับนี้เป็นภาพใบหน้าคนเล็กๆเรียงกันด้านละ 3 แถว ทุกหน้ามีแต่รอยยิ้ม 



กิจกรรมวันขึ้นปีใหม่

          กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ คือ

           เก็บกวาดทำความสะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน

           ทำบุญตักบาตร กรวดนำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติและผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว

           ไปวัดเพื่อทำบุญ ถือศีล ปฏิบัติธรรม หรือฟังพระธรรมเทศนา ฯลฯ เพื่อให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสเบิกบาน ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

           ไปกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง ด้วยการมอบของขวัญ ช่อดอกไม้ หรือการ์ดอวยพร

           ตรวจสอบตัวเองเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำมาตลอดปี ว่ามีความเจริญก้าวหน้าสำเร็จลุล่วงไปได้แค่ไหน หากมีสิ่งใดคั่งค้างก็ต้องเร่งขวนขวายปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตน ถ้าอยู่ในเกณฑ์ดีก็ให้ตั้งใจทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป และควรให้อภัยกับผู้ที่มีเรื่องบาดหมางหรือขุ่นเคืองกัน เพื่อสานความสัมพันธ์ให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ด้วยดี

           จัดงานรื่นเริงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือสถานที่ต่าง ๆ

           จัดกิจกรรมร่วมนับถอยหลัง เพื่อก้าวสู่วันใหม่

           จัดกิจกรรมการกุศลตามสถานที่ต่าง ๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก
-- http://hilight.kapook.com/view/18913

วันเด็ก



"วันเด็กแห่งชาติ" 
          เป็นวันสำคัญในประเทศไทย ตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 12 มกราคม 2556 มีการให้คำขวัญวันเด็กทุกปี โดยนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น สำหรับปี 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ให้คำขวัญวันเด็กปี 2556 ไว้ว่า "รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน "
วันเด็ก

      งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์แรกของเดือน ต.ค. พ.ศ.2498 ตามคำเชิญชวนของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อ สวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
รัฐบาลจัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือน ตุลาคม ถึงปี พ.ศ.2506 และในปี พ.ศ.2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดอีกครั้งในปี 2508 โดยเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สอง ของเดือนม.ค. เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงหมดฤดูฝนและเป็นวันหยุดราชการ จนถึงทุกวันนี้
คำขวัญวันเด็กเป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดย คำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2499 ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า "จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม"
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมาจึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

คำขวัญวันเด็ก


คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2555 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร - สามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2554 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2553 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม 
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2552 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2551 - พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ - สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2550 - พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ - มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2549 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2548 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2547 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2546 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2545 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2544 - นายชวน หลีกภัย - มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2543 - นายชวน หลีกภัย - มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2542 - นายชวน หลีกภัย ขยัน - ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2541 - นายชวน หลีกภัย ขยัน - ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2540 - พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ - รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2539 - นายบรรหาร ศิลปอาชา - มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2538 - นายชวน หลีกภัย - สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2537 - นายชวน หลีกภัย - ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2536 - นายชวน หลีกภัย - ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2535 - นายอานันท์ ปันยารชุน - สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2534 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2533 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2532 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2531 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2530 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2529 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2528 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2527 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2526 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2525 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2524 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2523 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2522 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - เด็กไทยคือหัวใจของชาติ
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2521 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2520 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช - เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2518 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ - เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2517 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ - สามัคคีคือพลัง
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2516 จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2515 จอมพล ถนอม กิตติขจร - เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2514 จอมพล ถนอม กิตติขจร - ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2513 จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2512 จอมพล ถนอม กิตติขจร - รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2511 จอมพล ถนอม กิตติขจร - ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2510 จอมพล ถนอม กิตติขจร - อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2509 จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2508 จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2507 งดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2506 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2505 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2504 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2503 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2499 จอมพล ป.พิบูลสงคราม - จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม
ข่าวเกี่ยวกับวันเด็กอื่นๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก
-- http://campus.sanook.com